ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป นำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ความแข็งแกร่งของทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำเทเลคอม-เทคคอมปานี ร่วมขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจไทยในทุกอุตสาหกรรมทรานสฟอร์มธุรกิจ (Business Transformation) ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีความยืดหยุ่นคล่องตัว พร้อมรับมือกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น
“เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา หลังการรวมธุรกิจทรู-ดีแทค หนึ่งในความก้าวหน้าที่สำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น คือ การขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กรเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ที่เป็นมากกว่าผู้ให้บริการเครือข่าย” เอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Building Corporate Culture for The Future of Digital Manufacturing” ในงาน Automation Summit 2023 สุดยอดองค์ความรู้เพื่อผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล และเสริมว่า “พันธกิจหลักของทรู ดิจิทัล ตอกย้ำการเป็นเทคคอมปานีของทรู คือ “Empowering Digital Equity” ควบรวมบริการดิจิทัลเข้าไปสู่กลุ่มผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพื่อลดช่องว่างและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม และใช้เทคโนโลยีได้ง่าย-คุ้มค่า-ได้ประโยชน์มากกว่าเดิม ทั้งเติมเต็มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ใหม่ๆของคนไทย และสร้างมูลค่าให้ธุรกิจมุ่งสู่การเติบโตแบบยั่งยืน รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญให้กับประเทศ”
เปิดศักราช Business Transformation หมดยุค Digital Transformation
Statista ได้เปิดเผยสถิติการใช้จ่ายทั่วโลกในบริการและดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการใช้จ่ายสูงถึง 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นเป็นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า และคาดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ การใช้จ่ายจะพุ่งขึ้นถึงเกือบสามพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยนายเอกราช ระบุว่า “เราเห็นชัดว่า เทคโนโลยี AI เป็นตัวเร่งให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และ ภาคธุรกิจกำลังก้าวสู่ยุคที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่ Digital Transformation แต่จะเป็นเรื่องของ Business Transformation ที่จะสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน ควบคู่กับการเสริมความยืดหยุ่นคล่องตัวให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ปัญหาอุปสรรค และความท้าทายต่างๆ ซึ่งเคล็ดลับในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ให้เห็นผลสำเร็จ ควรเริ่มต้นจากผลลัพธ์หรือประโยชน์สุดท้ายที่องค์กรต้องการ แล้วค่อยย้อนกลับมาเลือกสรรเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้ตรงจุด รวมถึงต้องให้ความสำคัญในการผสานกระบวนการต่างๆขององค์กรให้เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน”
จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิมๆ สู่ Smart Manufacturing
ความท้าทายมากมายที่อุตสาหกรรมการผลิตต้องเผชิญทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น การปริมาณผลผลิต การควบคุมคุณภาพผลผลิต การดูแลความปลอดภัยและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน การบริหารจัดการต้นทุน การหาโอกาสทางการตลาดจากข้อมูลต่างๆ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตต้องปรับตัวและทรานสฟอร์มธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ Smart Manufacturing เมืองไทยเติบโตสูงมาก อีกทั้งการใช้จ่ายในเทคโนโลยี IoT ในไทยยังเติบโตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย สถิติเหล่านี้สะท้อนชัดถึงแนวโน้มการทรานสฟอร์มในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและเร็วมากขึ้น โรงงานหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนจาก physical ให้เป็น digital เช่น การขึ้นสายการผลิตใหม่ที่ใช้ดิจิทัลเป็นพื้นฐาน (digital base) พัฒนาแบบจำลอง (simulation) ทั้งหมด หรือ ใช้ Digital Twins เมื่อโมเดลทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ก็สามารถนำไปใช้งานจริงในสายการผลิตได้ทันที
ส่องเทรนด์เทคโนโลยีสุดฮอตทั่วโลก ขับเคลื่อน Smart Manufacturing
เทคโนโลยีสุดฮอตของโลกที่สร้างประโยชน์อย่างยิ่งยวดในเชิงธุรกิจ และยังคงมีแนวโน้มเติบโตและมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้า ได้แก่
- Internet of Things (IoT)
- Sensors อุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ
- Artificial Intelligence (AI) รวมไปถึง Machine Learning และ Analytics
- VR/AR ช่วยยกระดับการบริหารจัดการโรงงาน เช่น การแก้ไขปัญหาเครื่องจักรโดยสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแว่น VR/AR
- Digital Twins ใช้ทำโมเดลจำลองการผลิต (Production Simulation)
- Block Chain นำมาพัฒนานวัตกรรม Smart Contract ที่ตัดคนกลางออกไป ซึ่งมีประโยชน์มากในการตรวจสอบ (Track & Trace) กระบวนการต่างๆตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการทํา Governance ในโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น เอกสารหรือข้อมูลที่มีความสําคัญ เทคโนโลยีนี้สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด
- 3D Printing การพิมพ์ชิ้นงานแบบ 3 มิติที่สมจริง มีรูปลักษณ์จับต้องได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
- Cloud พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่สามารถเลือกใช้ได้หลายประเภท เช่น Cloud as a Service
แนะสร้าง Digital Corporate Culture ด้วย People-Process-Technology
เมื่อโลกหมุนไปไกลกว่าเรื่อง Digital Transformation ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจึงต้องสร้าง Digital Corporate Culture หรือวัฒนธรรมของการผสานควบรวมกับดิจิทัลเป็นหนึ่งเดียว เพื่อทรานสฟอร์มธุรกิจและขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการพัฒนา 3 เรื่องหลักพร้อมๆกัน คือ คน (People) กระบวนการ (Process) และ เทคโนโลยี (Technology)
People – บุคลากรนับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ องค์กรจึงต้องมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร โดยประเมินทักษะความสามารถของบุคลากร (Assessment) เพื่อวางแผนเสริมทักษะ (upskill & reskill) ได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญ ผู้บริหารต้องผลักดันเรื่องดิจิทัลไปกับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนพนักงานทุกระดับในการพัฒนาตนเอง และเชื่อมโยงกระบวนการทำงานระหว่างฝ่ายต่างๆให้สามารถใช้งานระบบดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับให้สิทธิและโอกาส (Empower employee) ให้พนักงานสามารถใช้ข้อมูล ระบบ และเทคโนโลยีทั้งหมด ตามแนวทาง 3C คือ Connect-Collaborate-Communicate ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของพนักงานในการสร้างผลงานและประโยชน์เชิงบวกที่มากขึ้นแก่องค์กร
เผยโผ Soft Skills ที่องค์กรยุคใหม่ต้องการ
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ประเทศไทยยังคงขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลหลายด้าน อาทิ วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science), UX/UI, Process Automation การพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักพัฒนาต่างๆ นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรชั้นนำในไทยยังพบว่า องค์กรมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะ (Soft Skills) แตกต่างจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยทักษะใหม่ๆที่มาแรง ได้แก่ ทักษะการคิดแบบเป็นระบบ (Analytical Thinking), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), ความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลง (Adaptability), ความเป็นผู้นำ (Leadership) และ การวิเคราะห์และขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Native Data Driven) ซึ่งการช่วยกันพัฒนาทักษะ (Upskill & Reskill) ของบุคลากร นอกจากจะทำให้ได้กำลังคนที่จะมาช่วยกันต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแล้ว ยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของคนไทย
Process – การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ได้ผล ต้องผสานเชื่อมโยงไปกับคนและเทคโนโลยีเป็นผืนเดียวกัน เริ่มต้นง่ายๆ จากการ Digitize คือ เลือกบางกระบวนการขึ้นมาแล้วเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัลทั้งกระบวนการ ยังไม่ต้องทำทั้งหมดทุกกระบวนการ เมื่อเห็นผลลัพธ์และประโยชน์ชัดเจน แล้วจึงค่อยๆขยายและพัฒนาต่อยอดให้ก้าวหน้าต่อไป อาจจะเป็น Intelligent Process, Automation, Advance Analytic, Lean Process Design, Business Process Outsourcing และ Robotics ดังนั้น เพียงแค่เริ่มต้น digitization บางส่วนของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น back-end หรือ front-end ก็จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเริ่มต้นเส้นทางของดิจิทัลได้แล้ว
Technology – หัวใจสำคัญของเทคโนโลยียุคใหม่ คือ เป็นระบบเปิด หรือ Open Architecture ที่สามารถเชื่อมโยงและต่อยอดกันได้ เอื้อต่อการผสานหลากหลายเทคโนโลยีแบบไร้รอยต่อทุกระบบตั้งแต่ต้นจนจบ (end-to-end solution) ซึ่งจะส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงต้องมีระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ควบคู่กันด้วย นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอีกหลากหลายที่สามารถนำมาปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต มุ่งสู่ Industry 5.0
อาทิ Human Machine หรือที่เรียกว่า Humanize การทํางานร่วมกันระหว่างคนกับเทคโนโลยี, Digital Twins ที่ปัจจุบันทั้งง่ายขึ้นและราคาถูกลงมาก, Energy ครอบคลุมทั้งระบบบริหารจัดการการใช้พลังงาน และ Renewal Energy ที่สามารถผสมผสานและปรับแต่งให้สามารถใช้พลังงานได้คุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการวางโครงสร้างของการเก็บข้อมูลต่างๆ (Data Transmission & Storage) ให้อยู่บนผืนเดียวกัน ต่อยอดไปจนถึง Factory Data Lake แหล่งรวมข้อมูลที่จะสามารถนำไปวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ไขรหัสปลดล็อก Business Transformation
การสร้าง Digital Corporate Culture และ Business Transformation ขององค์กร นายเอกราชได้แนะนำกรอบการทำงานไว้อย่างน่าสนใจว่า “การเปลี่ยนผ่านธุรกิจในยุคดิจิทัล องค์กรต้องปลดล็อก 1. วิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงและการวางกลยุทธ์ดิจิทัลควบคู่ไปกับแผนธุรกิจเสมอ 2. เริ่มต้นที่ปลายทาง จากความต้องการของลูกค้าหรือปัญหาของธุรกิจ และประโยชน์แท้จริงที่องค์กรต้องการ 3. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล 4. กำหนดตัวชี้วัดการใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าต่อการลงทุน 5. วิถีการทำงานร่วมกันและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ 6. ส่งเสริมให้พนักงานมีแนวคิดและวัฒนธรรมดิจิทัลร่วมกัน 7. ให้เวลาและโอกาสในการพัฒนาตนเองและศักยภาพของทีมงาน และสุดท้าย 8. แบ่งปันตัวอย่างกรณีศึกษาในองค์กร แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จร่วมกัน”