บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 2.5 แสนล้านบาท โดยมีการระบุถึงปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งร้อยละ 35 มาจากระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) คาด EBITDAเติบโต แซงการเติบโตของรายได้จากการให้บริการจากการมุ่งที่การเติบโตอย่างมีกำไรในการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ โดยคาดว่าจะสามารถประหยัดกระแสเงินสดได้ในระดับคงที่ประมาณ 2.2หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2569
มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่น มีความครอบคลุมของช่องทางกระจายสินค้า และเทเลนอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคมที่เน้นเรื่องผลประกอบการและการสร้างผลกำไร วันนี้เราเป็นผู้นำในตลาดโทรคมนาคมเคลื่อนที่ของไทยด้วยยอดผู้ใช้งานมากกว่า 51 ล้านเลขหมาย โดยมีผู้ใช้งานออนไลน์ 3.8 ล้านคน และผู้ใช้งานดิจิทัล 40 ล้านคน เราเปลี่ยนองค์กรของเราจากบริษัทโทรคมนาคมสู่บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี การดำเนินการธุรกิจ เข้ากับเทคโนโลยี ด้วยการขยายขีดความสามารถของเราไปยังกลุ่มผู้บริโภค กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มอุตสาหกรรม เราจะสร้างโอกาสใหม่ในการเติบโตทางธุรกิจนอกเหนือบริการเชื่อมต่อด้วยวิสัยทัศน์ของเราในการมุ่งสู่บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำ”
ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) เป็นหัวใจหลักของการดำเนินงานของเรา ในขณะที่เราบูรณาการโดยการปรับลดโครงสร้างพื้นฐานที่ซ้ำซ้อนลง30% แต่สร้างเครือข่ายที่รองรับสัญญาณเพิ่ม ครอบคลุม กว้างขึ้น และดีกว่าสำหรับลูกค้าของเรา โดยมุ่งเน้นการดำเนินการแบบเจาะลึกในรายละเอียด ลดช่องว่างพื้นที่ใช้งาน พร้อมเพิ่มความแข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยีเสาสัญญาณล้ำสมัยที่ผสานหลากหลายคลื่นความถี่
การรวมโครงข่าย เราจะมุ่งเน้นความสำคัญในการยกระดับประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าให้ดีขึ้นด้วยชุดคลื่นความถี่แต่ละชุดที่เรามี การสร้างเครือข่ายที่มีความครอบคลุมที่ทับซ้อน และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ ด้วยการดำเนินการจากพันธมิตรระดับโลก เราตั้งเป้าโครงการระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) แล้วเสร็จภายในปี 2568
ทรู คอร์ปอเรชั่น นำเสนอผลิตภันฑ์และบริการที่หลากหลายตรงความต้องการของลูกค้า โดยใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ที่มีความล้ำสมัยและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ด้วยประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ ทั้งนี้ การสร้างรายได้จากบริการ 5G การใช้กลยุทธ์เพิ่มยอดขาย (Up-selling) และการเสนอขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง (Cross-Selling) ด้วยข้อเสนอพิเศษ พร้อมทั้งยกระดับการให้บริการลูกค้าแบบพรีเมี่ยมด้วยบริการดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับตัวของข้อเสนอในตลาดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน”
นกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “มากกว่า 100 ปัจจัยที่จะสร้างมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการ 2.5 แสนล้านบาท โดย 15 อันดับแรกจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการคิดเป็นร้อยละ 85 ของมูลค่ารวม ค่าใช้จ่ายหลักในการผสานรวมกันจะเกิดขึ้นภายในปี2567 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทบรรลุผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการสุทธิเป็นบวกในปี2568 และมีกำไร โดยทรู คอร์ปอเรชั่นคาดว่าจะสามารถรับรู้การประหยัดกระแสเงินสดได้ในระดับคงที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2569
การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างของต้นทุนอย่างต่อเนื่อง การใช้สินทรัพย์เพื่อให้ก่อประโยชน์สูงสุด และการเติบโตแบบมีกำไร EBTIDA จะเติบโตเร็วกว่ารายได้จากการให้บริการ โดยคาดว่าอัตรา EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการจะดีขึ้น 11 จุด (Percentage point) ภายในปี 2570 ทั้งนี้ ด้วยผลประโยชน์จากการรวมการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) รวมถึงการรวมคลื่นความถี่ และความมีวินัยในการบริหารจัดการเงินลงทุนซึ่งฝังอยู่ในวิถีการทำงานของเรา ค่าใช้จ่ายการลงทุน CAPEX ของทรู คอร์ปอเรชั่นหลังจากการรวมเครือข่ายเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงก่อนควบรวม ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำในการให้บริการด้าน เทคโนโลยีที่มีจุดแข็งจากผู้ถือหุ้นของเรา ทรู คอร์ปอเรชั่นพร้อมที่จะผลักดันประเทศไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่และส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน”
การคาดการณ์ในปี 2566 บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ระบุแนวโน้มสำหรับปี 2566 ซึ่งคิดเป็นระยะเวลา 10 เดือนของการดำเนินงานนับจากวันทีมีการควบรวม
- รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) คงที่
- คาดว่า EBITDA จะมีการเติบโตที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ-ปานกลาง (low-to-mid single digit)
- เงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 25,000 – 30,000 ล้านบาท