บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอีคอมเมิร์ซและการค้าระหว่างประเทศจากไทยสู่เวียดนาม โดยมุ่งใช้ 3 เส้นทางการขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ เส้นทางอากาศ เส้นทางภาคพื้น และทางราง พร้อมจับมือการไปรษณีย์เวียดนามพัฒนาบริการไปรษณีย์ภายใต้กรอบความร่วมมือของการไปรษณีย์อาเซียน (ASEANPOST) เดินหน้ายกระดับอีคอมเมิร์ซของทั้ง 2 ประเทศ เตรียมนำสินค้าเมดอินไทยแลนด์และเวียดนาม จัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มและขนส่งอย่างครบวงจร
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า เวียดนามเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีความน่าสนใจ เป็นโอกาสสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค และไฮไลต์อย่างค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ที่มีปัจจัยการขยายตัวทั้งจากผู้บริโภคในเวียดนามที่ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เดือนละราว 1 พันล้านดอลล่าร์ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการเข้าไปดำเนินธุรกิจด้านแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการจากต่างประเทศ และเวียดนามยังเป็นหนึ่งใน 10 ตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดของโลก
ไปรษณีย์ไทยจึงเห็นความสำคัญที่จะขยายโอกาสเพื่อภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการไทย ภาคการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งตอกย้ำเป้าหมายในการก้าวไปสู่ Trusted Sustainable ASEAN Brand ที่มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือแห่งอาเซียน จึงมีแผนใช้ความโดดเด่นจากโครงข่ายทั้งที่เป็น Physical และ Digital เชื่อมภาคเศรษฐกิจไทย – เวียดนาม และการสร้างประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอื่น ๆ รอบด้าน
การร่วมมือกับการไปรษณีย์เวียดนามพัฒนาบริการไปรษณีย์ภายใต้กรอบความร่วมมือของการไปรษณีย์อาเซียน (ASEANPOST) ในหลายๆ ด้าน รวมถึงการใช้อัตราค่านำจ่ายพิเศษระหว่างกัน สำหรับบริการไปรษณียภัณฑ์ พัสดุไปรษณีย์ EMS และ ePacket ซึ่งได้วางเส้นทางและแนวทางที่ไปรษณีย์ไทยและการไปรษณีย์เวียดนามจะเชื่อมต่อถึงกันได้ ดังนี้
- การขนส่งไปรษณีย์ทางอากาศระหว่างไทยไปเวียดนาม ยัง 2 เมืองปลายทาง ได้แก่ ฮานอย และโฮจิมินห์ ผ่านเที่ยวบินของการบินไทย โดยเส้นทางนี้ถือว่ามีความรวดเร็วที่สุด มีความแน่นอนในด้านเวลา ปลอดภัย และสามารถดำเนินงานด้านเอกสารต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก
- การใช้ระบบขนส่งทางภาคพื้น เดิมไปรษณีย์ไทยทำการแลกพัสดุภาคพื้นข้ามพรมแดนระหว่างไทย-เวียดนาม โดยใช้เส้นทาง ไปรษณีย์อรัญประเทศ–พนมเปญ–โฮจิมินฮ์ ซึ่งเมื่อปี 2563
ถึงปัจจุบัน มีการระงับการให้บริการขนส่งทางภาคพื้นระหว่างไปรษณีย์ไทยไปยังปลายทางประเทศเวียดนาม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการปิดพรมแดนไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ไปรษณีย์ไทยได้กลับมาแลกเปลี่ยนพัสดุภาคพื้นข้ามพรมแดนระหว่างไปรษณีย์ไทย – กัมพูชาอีกครั้ง และมีแผนจะส่งผ่านกัมพูชาไปยังเวียดนามต่อไป
- การขนส่งทางราง ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานกับรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว การไปรษณีย์เวียดนาม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการผลักดันการขนส่งทางรางเส้นทางไทย-ลาว-เวียดนาม ในอนาคต โดยมีเส้นทางสำคัญอย่าง R12 ที่เริ่มต้นตั้งแต่จังหวัดนครพนมไปจนถึงโครงการเศรษฐกิจหวุงอ่าง (Vung Ang) ในเวียดนาม และเส้นทางนี้ยังสามารถขนส่งสินค้าต่อไปยังมณฑลกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านเครือข่ายถนนในเวียดนามได้อีกด้วย ทั้งนี้ ยังมีอีกหนึ่งเส้นทางที่น่าสนใจคือ เส้นทางรถไฟจากเมืองท่าแขกถึงชายแดนลาว – เวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟลาว – เวียดนาม โดยเริ่มจากเมือง
ท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปยังท่าเรือหวุงอ่าง ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2567 และจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571
ไปรษณีย์ไทย และไปรษณีย์เวียดนาม ไปรษณีย์อินโดนีเซีย พร้อมด้วยที่ปรึกษาพิเศษจำนวน 2 ราย คือ Paytech บริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายเวียดนาม และ Kota บริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายสิงคโปร์ ได้มีการลงนามในข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้ง “Regional ASEAN Post Alliance – RAPA” เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือในด้านขนส่งและระบบไปรษณีย์ระหว่างชาติอย่างเป็นรูปธรรม ใน 4 ด้าน คือ
– ด้านพันธมิตรอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่จะมีการเชื่อมโยงระบบการค้าออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาโมเดลโลจิสติกส์ให้มีรูปแบบเดียวกัน การพัฒนา QR code เพื่อให้สะดวกต่อการทำธุรกรรม
– ด้านการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซของอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางและไปสู่ตลาดโลก โดยไปรษณีย์ไทยมีแผนผลักดันสินค้าเมดอินไทยแลนด์ – เวียดนาม ให้ไปสู่ตลาดโลก โดยมีความร่วมมือกับการไปรษณีย์เวียดนามในรูปแบบของ RAPA shop เป็นโครงการที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ นำสินค้ายอดนิยมมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มที่จะพัฒนาขึ้น และมีการจัดส่งถึงผู้สั่งซื้อแบบครบวงจรด้วยบริการของเครือข่ายไปรษณีย์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับการไปรษณีย์ของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของตัวอย่างสินค้าไทยที่มีศักยภาพเจาะตลาดเวียดนาม เช่น กาแฟ กลุ่มสินค้าจาก
– ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
– ด้านการพัฒนาพันธมิตรด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานรูปแบบใหม่ เช่น การเชื่อมโยงระบบคลังสินค้า การใช้เทคโนโลยีขนส่งขั้นสูงตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเพื่อให้การขนส่งมีความรวดเร็วขึ้น และ ด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง 3 ประเทศ ทั้งด้วยแนวการเพิ่มผลกำไร การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และด้านความยั่งยืน